ตัวอักษรจีนเป็นระบบตัวอักษรที่เก่าแก่และมีคนใช้มากที่สุดในโลกระบบหนึ่ง จากหลักฐานข้อมูลเท่าที่ขุดค้นพบได้ในปัจจุบันยืนยันว่า ตัวอักษรจีนมีประวัติความเป็นมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี นับจากตัวอักษรเจี่ยกู่หรือตัวอักษรซึ่งสลักบนกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์ซาง ตัวอักษรเจี่ยกู่เป็นอักษรภาพเลียน(เซี่ยงสิงจื้อ) ทั้งยังเป็นตัวอักษรที่แสดงเสียงด้วย ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้ตัวอักษรภาพเลียนจำนวนหนึ่งซึ่งแลดูพริ้วไหวเสมือนจริงในระบบตัวอักษรจีน
ปัจจุบันระบบตัวอักษรจีนแบ่งออกเป็นสองระบบใหญ่ได้แก่ ระบบตัวเต็มและระบบตัวย่อ ระบบตัวเต็มเป็นระบบที่ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊าและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนระบบตัวย่อเป็นระบบที่ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย สิงคโปร์และกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าระบบการเขียนของสองระบบนี้จะต่างกัน แต่สำหรับตัวอักษรที่ใช้บ่อยนั้นมีจำนวนตัวอักษรที่แตกต่างกันไม่ถึง 25% นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีก็ได้รับเอาระบบตัวอักษรจีนไปใช้ในภาษาของตนตั้งแต่สมัยโบราณ ระบบตัวอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นเป็นระบบตัวอักษรที่ได้ถูกปรับย่อแล้ว แต่ก็มีตัวอักษรบางส่วนที่ยังคงวิธีการเขียนแบบอักษรจีนโบราณเอาไว้ ส่วนระบบตัวอักษรจีนในภาษาเกาหลีนั้นถือว่ามีวิธีการเขียนที่ใกล้เคียงกับวิธีเขียนแบบจีนโบราณมากที่สุด โดยทั่วไปตัวอักษรจีนหนึ่งตัวจะมีหลายความหมายและมีความสามารถในการประกอบคำสูงมาก ทั้งตัวอักษรบางตัวยังสามารถเป็นคำได้ด้วยตัวเอง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ตัวอักษรจีนมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง การใช้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยเพียงประมาณ 2,000 ตัวก็สามารถครอบคลุมการใช้ตัวอักษรในภาษาเขียนได้มากกว่า 98% นอกจากนี้ตัวอักษรจีนยังมีลักษณะเฉพาะคือเป็นตัวอักษรที่แสดงความหมายและเสียง จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรับสารโดยการอ่านตัวอักษรจีนสูงตามไปด้วย และเมื่อเทียบตัวอักษรจีนกับตัวอักษรระบบสะกดคำในปริมาณที่เท่ากัน ตัวอักษรจีนจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารได้มากกว่า
ภาษาจีนเป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต ในภาษาจีนมีภาษาถิ่นมากมาย ปัจจุบันได้มีจัดหมวดหมู่ของภาษาถิ่นต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นเขตภาษาถิ่น 7 เขตด้วยกัน ภาษาถิ่นเหล่านี้ได้แก่ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอู๋(ภาษาถิ่นเจียงซูและเจ้อเจียง) ภาษาถิ่นเซียง(ภาษาถิ่นหูหนาน) ภาษาถิ่นกั้น(ภาษาถิ่นเจียงซี) ภาษาถิ่นจีนแคะ(ภาษาถิ่นฮากกา) ภาษาถิ่นเย่ว์(ภาษาถิ่นกวางตุ้ง)และภาษาถิ่นหมิ่นหนาน(ภาษาถิ่นฮกเกี้ยน) ในบรรดาภาษาถิ่นทั้งเจ็ดนี้ ภาษาถิ่นเหนือเป็นภาษาถิ่นที่ชนชาติฮั่นใช้สำหรับสื่อสารมากที่สุดในปัจจุบัน และถือเอาภาษาปักกิ่งเป็นตัวแทนของภาษาถิ่นเหนือ โดยภาษาถิ่นเหนือทุกภาษาจะมีเอกภาพทางโครงสร้างภาษาค่อนข้างสูง พื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือในการสื่อสารกินเนื้อที่กว้างที่สุดเมื่อเทียบกับภาษาถิ่นอื่นๆ ประชากรที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือมีราว 73% ของประชากรทั่วประเทศ ส่วนภาษาถิ่นที่เหลือ 6 ภาษาจะใช้สื่อสารกันทางภาคใต้ของจีน หากพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ต่างๆ จะใช้ภาษาถิ่นต่างกัน ดังนั้นผู้คนต่างถิ่นฐานกันก็มักจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ทว่า ระบบตัวอักษรที่ประชาชนทั่วประเทศจีนใช้นั้นเหมือนกันทุกประการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบตัวอักษรของภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนมีความเป็นเอกภาพสูง ดังนั้นภาษาที่ใช้จึงถือว่าเป็นภาษาเดียวกันคือภาษาจีน